พระอุปคุต เนื้อเกษรดอกไม้ 108

Loading

รายละเอียดพระ

พระอุปคุต” เป็นรูปเคารพที่สร้างขึ้นแทนพระอรหันต์สาวกสำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่า มีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ ในสมัยหลังพุทธกาล เช่นเดียวกับที่ “พระโมคคัลลาน์” ได้รับการยกย่องสมัยเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ คำว่า ‘พระอุปคุต’ เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจะเขียนว่า ‘อุปคุปต์’ หมายความว่า ผู้คุ้มครองมั่นคง นอกจากนี้ยังมีการเรียกขานกันว่า พระอุปคุตเถระ หรือ พระเถรอุปคุต อันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงความมั่นคงในพระธรรมวินัย และชื่ออื่นๆ อีก อาทิ พระนาคอุปคุต และ พระกีสนาค เป็นต้น ปรากฏเรื่องราว ‘พระอุปคุต’ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องพระพุทธศาสนาตอนหนึ่งว่า … พระอุปคุตบำเพ็ญธรรมอยู่กลางมหานทีอันกว้างใหญ่ในโลหะปราสาท เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในอินเดีย ทรงโปรดฯ ให้กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 3 แต่มีพญามารเข้ามาก่อกวนมณฑลพิธี จนต้องอาราธนาพระอุปคุตมาปราบ ด้วยการเนรมิตซากสุนัขเน่าเหม็นห้อยติดคอพญามาร และทำอย่างไรก็ไม่สามารถแก้หลุดได้ จนพญามารต้องยอมศิโรราบ ทำให้การสังคายนาพระไตรปิฎกสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี … รูปลักษณะของพระอุปคุตที่เป็นรูปเคารพโดยทั่วไป มักทำเป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ภายในหอยสังข์ มีขนาดศีรษะค่อนข้างใหญ่ เน้นส่วนคิ้ว ตา จมูกให้เห็นชัดเจน และเนื่องจากที่อาศัยจำพรรษาของพระอุปคุตอยู่ในปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร จึงมักทำรูปสัตว์น้ำเป็นสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ ธรรมเนียมการบูชาพระอุปคุตแพร่หลายในหมู่ชาวพม่า มีการสร้างรูปบูชาพระอุปคุปต์ใน ลักษณาการพระพุทธรูปไม้นั่งอยู่กลางน้ำ บนพระเศียรคลุมด้วยใบบัว และตามร่างกายมีเข็มปักติดอยู่ทั่วพระวรกาย ที่รู้จักกันในนาม “พระบัวเข็ม” สำหรับชนชาติเขมร ยังรับคติความเชื่อเรื่องพระอุปคุตมาจำลองเป็นเทวประติมากรรม ขนาดเล็ก ทำด้วยสัมฤทธิ์ เป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ในเปลือกหอยลักษณะต่างๆ และเมื่อจะจัดงานพิธีสำคัญต่างๆ ก็มักจะมีพิธีอธิษฐานบูชาพระอุปคุตเป็นเบื้องต้น เพื่อให้ช่วยคุ้มครองให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และในขณะที่สยามประเทศเชื่อเรื่องการบูชาแม่น้ำคงคาและพระแม่คงคา ตลอดจนประเพณีการจองเปรียง หรือตำนานของนางพระยากาเผือก อันเป็นการผสมผสานระหว่างคติฮินดูกับพุทธศาสนานั้น ชาวมอญกลับมีความเชื่อว่าประเพณีลอยกระทงผูกพันอยู่กับ “พระอุปคุตเถระ” ซึ่งเป็นพระมหาเถระซึ่งทรงอิทธิฤทธิ์ สำหรับชาวล้านนาจะรู้จัก “พระอุปคุต” ในนามของ ‘ผู้ปกป้องคุ้มครองภัย’ โดยเฉพาะเวลามี “ปอยหลวง” หรือ “งานพิธีกรรม” จะมีการอาราธนาพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำ มาคุ้มครองการจัดงานให้ลุล่วงด้วยดี ในบางท้องถิ่นยังเชื่อว่า พระอุปคุตจะตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นสามเณรน้อยขึ้นมาบิณฑบาตใน “วันเป็งปุ๊ด” หรือ “เพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ)” โดยเริ่มตั้งแต่ตีหนึ่งของวันพุธ ผู้คนมักเห็นสามเณรน้อยเดินบิณฑบาตไปตามถนนหนทาง ตลอดจนท่าน้ำต่างๆ จนกระทั่ง ‘ตี๋นฟ้ายก’ หรือ แสงเงินแสงทองออกมา จึงเนรมิตกายหายไป เชื่อกันว่าหากผู้ใดมีบุญบารมีได้ใส่บาตรพระอุปคุต จะทำให้ร่ำรวยเงินทอง ปราศจากภัยทั้งปวง มีสมาธิจิตดี มีชีวิตที่เป็นสุข จากความเชื่อและการนับถือดังกล่าว จึงมีผู้สร้างพระอุปคุตในปางต่างๆ มากมาย ที่เป็นที่นิยมกันมาก ได้แก่ ปางล้วงบาตร หมายถึง ‘กิ๋นบ่เสี้ยง’ หรือ กินไม่หมด ให้คุณทางทรัพย์สินเงินทอง ความร่ำรวย ปางห้ามมาร ให้คุณในทางคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ และ ปางสมาธิ หรือ พระบัวเข็ม ซึ่งให้คุณในด้านสติปัญญาดี จิตใจผ่องใส ดำเนินชีวิตเป็นสุข ด้วยปัญญาบารมี วิธีการตั้งบูชาพระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม จะตั้งต่ำกว่าพระพุทธ เนื่องจากเป็นพระอรหันต์สาวก และนิยมการตั้งบนฐานรองรับอยู่กลางภาชนะใส่น้ำ เป็นการจำลองว่าท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร แล้วใช้ดอกมะลิลอยในน้ำบูชา

© 2024 ลิขสิทธิ์ amulet.website

Scroll to Top